กลับหน้าแรก พอเพียงโพธิ์เจริญ การเกษตร สมาร์ทฟาร์ม เกี่ยวกับเรา

เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma)


เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราปฏิปักษ์ (นักล่า) เชื้อราที่สามารถควบคุมเชื้อราโรคพืช โรครากเน่าและโคนเน่าระดับดิน โรคกล้าเน่า ยุบ โรคเหี่ยวและโรคกล้าไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ได้กับพืชทุกชนิด เช่น ทุเรียน ปาร์มน้ำมัน ยางพารา ผัก ไม้ผลต่างๆ ไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะอาศัยอยู่ในดินปลูกพืชทั่วไป โดยเฉพาะดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ดังนั้น จึงพบเชื้อราชนิดนี้ได้ทั่วไป แต่ก่อนนำมาใช้ควบคุมโรคพืชต้องมีการทดสอบก่อนเสมอเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพการควบคุมโรคพืชได้ดีที่สุด เพราะแต่ละสายพันธุ์ประสิทธิภาพต่างกัน เชื้อราไตรโคเดอร์มา NST-009 สามารถควบคุมเชื้อราโรคพืชได้หลายชนิด โดยมีกลไกการควบคุมเชื้อราโรคพืช ดังนี้
1. แย่งปัจจัยต่างๆ กับเชื้อราโรคพืช
2. กินเชื้อราโรคพืชเป็นอาหาร
3. สร้างสารยับยั้งหรือทำลายเชื้อราโรคพืช
4. ทำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อราโรคพืช
5. ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
เชื้อราไตรโคเดอร์มา NST-009 ผ่านการตรวจสอบและยืนยันจากห้องปฏิบัติการในต่างประเทศว่าไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืชที่ปลูกและสภาพแวดล้อม ตัวอย่างโรคพืชที่ควบคุมได้ เช่น โรครากเน่า โคนเน่าในทุเรียนและส้ม โรคที่เกิดจากเช้อราของข้าว โรคกุ้งแห้งในพริก โรคแอนแทรคในผลมะม่วง โรคเน่าระดับดินของพืชผักสวนครัว โรคโคนเน่าปาร์มน้ำมัน โรคราขาวยางพารา เป็นต้น

วิธีการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา

อุปกรณ์

1. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
2. ถุงพลาสติกทดร้อน ขนาด 9 x 14 นิ้ว
3. ยางวง
4. เข็ม
5. แก้วหรือถ้วยตวง
6. ข้าวสารหรือข้าวสารนึ่ง
7. หัวเชื้อไตรโคเดอร์มา NST-009 ชนิดน้ำ
วิธีทำ
1. หุงข้าวโดยใช้น้ำน้อย (ข้าว 3 ส่วนต่อน้ำ 4 ส่วน)
2. ใช้ทัพพีซุยข้าวสุกในหม้อให้ทั่ว ก่อนตักข้าวใส่ถุงพลาสติกขณะที่ข้าวยังร้อนอยู่ 3 ทัพพี (250 กรัม)
3. รีดอากาศออกจากถุงแล้วพับปากถุงลงด้านล่าง ปล่อยข้าวให้อุ่น (30 นาที)
4. หยดเชื้อราไตรโคเดอร์มา 2 - 3 หยด
5. รัดปากถุงด้วยยางวงก่อนเขย่า และใช้เข็มแทงรอบๆ บริเวณปากถุงที่ยางรัดไว้ (30 ครั้ง)
6. กระจายข้าวให้ทั่วถุงและนำไปวางในห้องที่มีแสงสว่าง
7. บ่มเชื้อ 5 วัน จะเห็นราสีเขียวนำไปใช้ได้ทันที หรือเก็บไว้ในตู้เย็นช่องเก็บผังได้นาน 1 เดือน
8. ล้างเอาสปอร์สีเขียวของเชื้อราไปใช้ต่อไป

วิธีการใช้เชื้อสดไตรโคเดอร์มา (Trichoderma)

1. อัตราส่วน 1 ถุง : 50 ลิตร เชื้อสด 1 ถุงจะมีปริมาณ 250 กรัม สามารถนำไปผสมน้ำได้ 50 ลิตร
2. ล้างเอาสปอร์สีเขียวของเชื้อรา โดยการเทใส่ถังใช้น้ำประมาณ 2 ลิตร ใช้มือบีบเม็ดข้าวเบาๆ เพื่อให้สปอร์เชื้อราที่ติดอยู่บริเวณผิวเม็ดข้าวหลุดออกแล้วกรองแต่น้ำจะเห็นเชื้อราสีเขียว
3. เติมน้ำให้ครบตามสัดส่วน 1 ถุง ผสมน้ำให้ได้ 50 ลิตร (ควรหมักทิ้งไว้ 2 – 3 ชั่วโมง เพื่อใช้เชื้อขยายตัวให้ทั่ว) นำไปฉีดพ่น บริเวณรอบโคนต้นและทั่วลำต้น อย่างทั่วถึง สามารถใช้ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพอื่นๆ ได้ (ควรผสมสารจับใบในการพ่น หรือใช้น้ำยาล้างจาน 2 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร)
4. ควรฉีดพ่นช่วงเย็นแดดอ่อนๆ ให้ชุ่มทั่วต้น พืชผักอาทิตย์ละครั้ง ไม้ผลเดือนละ 1 – 2 ครั้ง แช่เมล็ดพืช กิ่งพันธุ์ก่อนปลูก แช่ไว้ 3 – 24 ชั่วโมง หรือใช้เชื้อสด โรยรอบทรงพุ่ม ทุเรียนเล็กเพิ่งปลูก ต้นละ 1 ช้อนโต๊ะ ทุเรียนใหญ่แล้ว ต้นละ 1 – 2 ถุง ตามความเหมาะสมของทรงพุ่ม ควรรดน้ำตามหลังหรือโรยหลังฝนตก ใช้เชื้อสดผสมกับปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักที่หมักได้ที่แล้วในอัตราส่วน เชื้อสด 1 ส่วนต่อปุ๋ยอินทรีย์ 50 ส่วน แล้วนำไปใช้หว่านในปริมาณ 50 – 100 กรัมต่อตารางเมตรโดยเฉพาะช่วงหลังเก็บเกี่ยว
5. กากข้าวที่กรองแล้วจะยังคงมีเชื้อราไตรโคเดอร์มาอยู่ สามารถนำใช้ผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้รองก้นหลุมหรือใช้หว่านบริเวณใต้ทรงพุ่มของต้นไม้เพื่อป้องกันโรคพืชและกำจัดเชื้อราในดินได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อพืชและผู้ใช้แม้จะใช้เชื้อเข็มข้นหรือบ่อยครั้ง
6. เชื้อราไตรโคเดอร์มา สด ควรนำไปใช้ทันที หรือสามารถเก็บในตู้เย็น (ช่องเก็บผัก) ได้ 1 เดือน หรือจนไม่มีสีเขียว
7. ห้ามใช้ไตโคเดอร์มาผสมร่วมกับสารเคมีกำจัดเชื้อราในกลุ่ม คาร์เบนดาซิม ไดฟิโนโคนาโซล คลอโรทาโลนิลและโพรพิโคนาโซล แต่อาจใช้สารเคมี ดังกล่าวสลับกับเชื้อไตรโคเดอร์มา โดยเว้นระยะห่างกัน 7 – 10 วัน

การทำปุ๋ยชีวภาพ

จุลินทรีย์หน่อกล้วย (สูตรหัวเชื้อ)
ทำปุ๋ยยูเรียน้ำ(สูตร 48 ไม่มี 0)
ฮอร์โมนไข่เพื่อพืช (สูตรปรับปรุงใหม่)
สูตรนมหมัก (สูตรปรับปรุงใหม่)
อาหารจานด่วนสำหรับพืช
สูตรยาแรง (สูตรปรับปรุงใหม่)
เชื้อราบิวเวอร์เรีย (สูตรปรับปรุงใหม่)